ใครที่เคย "ฝันหวาน" นอนกอดดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 14-16% อย่างเมื่อ 10 ปีก่อน อาจจะ "ฝันค้าง" เมื่อตื่นมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงที่ดอกเบี้ยเงินฝากดำดิ่งลงไปเหลือแค่ 0.5-1.75% หักลบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3% แล้วติดลบ ถ้าอัตราดอกเบี้ยอัน "ถดถอย" ทำให้ดอกผลจากเงินฝากของคุณหดหาย แต่คุณก็ยังมองว่า นี่คือ "Safe Heaven" และแม้จะฝากแล้วขาดทุนแต่ไม่ทำให้คุณสะดุ้งสะเทือน แถมบางคนยังพออกพอใจกับการนิ่งๆ และคิดว่าอย่างน้อยก็ยังดีกว่าการออกไปโลดโผนผจญภัยในตลาดหุ้น คุณก็ควรพยายามมองหาวิธีที่จะทำให้เงินฝากของคุณ "ปลอดภัย" และ "เสี่ยงภัย" น้อยที่สุด ในยามที่ดอกเบี้ยถูก "เงินเฟ้อ" กัดกร่อน คุณควรจะจัดการกับเงินฝากของคุณอย่างไร Fundamentals ฉบับนี้มีข้อคิดดีๆ มานำเสนอ *** เคยสังเกตบ้างไหมว่า ไม่ว่าพอร์ตการลงทุนของคุณจะผาดโผน หวือหวา กล้าได้กล้าเสีย หรือคอนเซอร์เวย์ทีฟสุดขีด แต่อย่างน้อยทุกพอร์ตการลงทุนมักมี "เงินฝาก" บรรจุอยู่ นั่นเพราะนักลงทุนทุกคน ไม่ว่าจะนิยามตัวเองเป็นนักลงทุนประเภทไหนก็ตาม แต่ย่อมต้องการพึ่งพิงเงินฝากเพื่อเพิ่มความ "คล่องตัว" ให้กับพอร์ตการลงทุน ในขณะเดียวกัน ยังมีนักลงทุนบางจำพวกที่ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะ "ถดถอย" ลงไปแค่ไหนก็ตาม แต่พวกเขายังพึงพอใจที่จะฝากเงินกับสถาบันการเงินประเภทต่างๆ อย่างไม่รู้จักคำว่าเหนื่อยหน่ายหรือท้อแท้ พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นนักลงทุนประเภท "คอนเซอร์เวย์ทีฟ" พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ไม่สูงจนเกินไป ไม่โลภมากจนเกิน จึงยังคงเลือกวิธีลงทุนด้วยการฝากเงินไว้กับธนาคาร 50-100% สำหรับคนที่จัดพอร์ตแบบนี้ ฟังดูเป็นเรื่องง่าย หรือคล้ายอาจนั่งเฉยๆ รอกินดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ง่ายเลยทีเดียว แถมยังมีรายละเอียดที่ทำให้ต้องคิดหน้าคิดหลังอีกมากมาย เพราะโดยความเป็นจริงแล้วการฝากเงิน ก็คือ การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกัน และใช่ว่าการฝากเงินจะไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อวิ่งแซงอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้ ถ้าคุณตั้งใจฝากเงินโดยตั้งเป้าให้เงินก้อนนี้เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักแล้วล่ะก็ ไม่ควรมองข้ามรายละเอียดเหล่านี้ @รู้จักประเภทเงินฝาก.......ก่อนจะตัดสินใจฝากเงิน สิ่งแรก คือ คุณต้องรู้จักและทำความเข้าใจกับบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่งเสียก่อน เริ่มจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ อย่างที่รู้กันว่าเป็นเงินฝากประเภทที่จะฝากหรือถอนก็คล่องตัว แม้ดอกเบี้ยต่ำไปน้อยหน่อย แต่ถ้าคุณต้องการความคล่องตัวในการเบิกถอนแล้วล่ะก็ ก็ควรมีเงินฝากประเภทนี้ติดไว้ นักลงทุนที่ชาญฉลาดส่วน ใหญ่มักจะมีเงินส่วนหนึ่งฝากออมทรัพย์ไว้ เผื่อว่า บังเอิญไปเจอช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี ก็สามารถเบิกถอนเพื่อโยกมาลงทุนได้ทันท่วงที โดยเงินฝากออมทรัพย์จะคิดดอกเบี้ยและทบต้นให้ทุกๆ ครึ่งปี ซึ่งจะเป็นวิธีคิดที่เป็นสากลเหมือนกันทุกแบงก์ สำหรับเงินฝากประจำ คือ เงินฝากที่มีกำหนดเวลาการฝากที่แน่นอน เช่นว่า ฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เงื่อนไขที่คุณต้องรู้ คือ หากถอนก่อนกำหนด อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือได้รับดอกเบี้ยลดลง แน่นอนว่า หากคุณตัดสินใจฝากเงินประเภทนี้ จะต้องมีวินัยในการออมสูงมาก เพราะหากคุณเปลี่ยนใจระหว่างทางถอนเงินออกมาเท่ากับว่าคุณจะไม่ได้ดอกเบี้ยอย่างที่วาดหวังเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี หรือฝากประจำแบบไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั่นเอง ซึ่งการฝากเงินในรูปแบบนี้ ถือว่าได้ผลตอบแทนดีที่สุด แต่การฝากเงินในรูปแบบนี้คุณจะต้องฝากเงินเท่ากันทุกเดือนจนกว่าจะครบสัญญา หากมีการถอนออกก่อนกำหนดดอกเบี้ยที่ได้รับจะเป็นดอกเบี้ยออมทรัพย์ทันที และจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย โดยโครงสร้างการฝากเงินของประชาชนทั่วไปไม่รวมนิติบุคคล ณ 31 มี.ค.2548 เป็นการฝากประเภทออมทรัพย์ประมาณ 42.4% ฝากประจำประมาณ 56.2% ที่เหลือเป็นเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม @ความเสี่ยงจากสถาบันการเงิน.....เรื่องนี้หลายคนมองข้าม เพราะไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเลือกสถาบันการเงินก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสถาบันการเงินที่รับฝาก นอกจากให้ดอกเบี้ยที่แตกต่างกันแล้ว ยังมี "ความเสี่ยง" และ "ความมั่นคง" ที่ต่างกันอีกด้วย มีผู้ฝากจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ที่ก่อนจะฝากเงินทุกครั้ง ต้องพิจารณาแม้กระทั่งผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของสถาบันการเงิน เช่น "นุสบา ปุณณกันต์" นักแสดงและพิธีกรผู้ประกาศเป็นศัตรูกับความเสี่ยง เธอจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ฝากกับสถาบันการเงิน ซึ่งแม้แต่การฝากเงินเธอยังเลือกสถาบันการเงินรัฐและเอกชนที่มีความมั่นคง เธอบอกว่า ไม่ชอบฝากเงินไว้ที่เดียว การมีเงินฝากไว้ที่เดียวจำนวนเยอะเกิน ทำให้มีความเสี่ยงมากเกินไป เธอจึงเลือกกระจายเงินฝากไว้หลายบัญชี หลายสถาบันการเงิน นั่นเป็นตัวอย่างของนุสบา แต่ยังมีผู้ฝากอีกไม่น้อย ที่คำนึงเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับแพง ๆ แต่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงิน @ดอกเบี้ยแตกต่างกัน.....เมื่อสถาบันการเงินแต่ละประเภทแต่ละแห่งมีความเสี่ยงแตกต่างกัน นั่นหมายถึงผลตอบแทนที่ได้รับย่อมแตกต่างกันไปด้วย โดยหากจัดหมวดหมู่ของสถาบันการเงินประเภทต่างๆ จะพบว่า หากเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำโดยเฉลี่ยประมาณ 1-1.25% แต่หากเป็นธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานในไทย จะให้ดอกเบี้ยฝาก 0.5-0.9% ส่วนธนาคารเอกชนรายใหม่ที่ยังต้องการสร้างฐานเงินฝากให้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย 1.5-2.25% ขณะที่ ถ้าฝากเงินในต่างประเทศจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ขึ้นอยู่กับคุณว่า อยากได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน @บริษัทเงินทุนจ่ายดอกเบี้ยแพงสุด.....ไม่มีอะไรเลวร้ายเสมอไป สำหรับคนที่นิยมการฝากเงินเป็นทุนเดิม นาทีนี้แหล่งที่น่าจะทำให้คุณสบายอกสบายใจ และยังยิ้มให้กับดอกเบี้ยได้ น่าจะเป็นบริษัทเงินทุน โดยระหว่างที่สถาบันการเงินแทบทุกประเภทจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากต่ำต้อยจนแทบน้ำตาไหล แต่บริษัทเงินให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง 3-4.25% นั่นหมายถึงว่าที่นี่แหละที่จะทำให้คุณฝากแบบชนะเงินเฟ้อได้ ขณะเดียวกัน ยังมีของกำนัลติดไม้ติดมือให้กับผู้ฝากด้วย จากการสำรวจของ Fundamentals ไปยังบริษัทเงินทุน 4 แห่ง พบว่า บง.สินอุตสาหกรรมให้ดอกเบี้ยที่น่าสนใจไม่น้อย โดยหากคุณมีเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ฝากประจำ 24 เดือนได้ดอกเบี้ย 3% ฝาก 32 เดือนได้ 3.25% ฝาก 36 เดือนได้ 4% ฝาก 42 เดือนได้ 4.25% ขณะที่ บง.เกียรตินาคิน ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 4% แต่คุณต้องฝาก 4 ปีขึ้นไป และเงินฝากทุก 1 ล้านบาทยังได้รับบัตรกำนัลชอปปิงมูลค่า 400 บาท ส่วน บง.ธนชาติ ถ้าคุณฝาก 3 ปีไม่ว่าจะฝากวงเงินเท่าไหร่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 3.25% ด้าน บง.ทิสโก้ หากฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป 36 เดือนได้ดอกเบี้ย 3% ฝาก 48 เดือนได้ 3.25% ฝาก 60 เดือนได้ 3.5% @ดอกเบี้ยรับที่แท้จริง ......อย่างที่รู้กันว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันโดยเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีประมาณ 3% และมีแนวโน้มว่าจะขยับสูงขึ้นอีก นั่นเป็นสัญญาณที่ฟ้องให้คุณรู้ว่า ดอกผลที่ได้จากการฝากแบงก์นั้นถดถอยลงถึงขั้น "ติดลบ" แล้ว นั่นจึงเป็น "ความเสี่ยง" ที่คุณควรจะรับรู้เอาไว้ อย่างน้อยเผื่อว่าจะได้มองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ เช่นว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในขณะนี้เฉลี่ย 0.75% แต่เงินเฟ้อวิ่งไปไกลถึง 3% เท่ากับว่าผลตอบแทนของคุณติดลบไปแล้ว 2.25% ดังนั้น หากต้องการฝากให้ชนะเงินเฟ้อ คุณอาจต้องเลือกฝากกับบริษัทเงินทุน ที่โดยมากจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ผู้สันทัดกรณีของสำนักวิจัยแห่งหนึ่ง ให้มุมมองว่า ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ขยับสูงขึ้น แม้ผู้ฝากเงินจะรู้ว่าดอกผลของพวกเขาจะถดถอยลง จนถึงขั้นติดลบ แต่คนฝากจำนวนมากไม่ต้องการโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในช่องทางอื่น เนื่องจากไม่มีความคุ้นเคยกับการลงทุนประเภทอื่น หรือไม่ก็ขาดความรู้ขาดความชำนาญในการลงทุนที่แปลกใหม่ ขณะที่ผู้ฝากอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีรายได้จากดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนหลัก กลุ่มนี้จะได้รับความเดือดร้อน ก็อาจจะมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ มาทดแทนรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงไป "แต่เชื่อมั้ยว่า เมื่อไหร่ที่วัฏจักรเศรษฐกิจเดินมาถึงช่วงขาลง หรือเป็นช่วงที่แย่ๆ คนจะฝากเงินกันมากขึ้น เพราะถึงยังไงก็ตามสำหรับคนไทยการฝากเงินกับแบงก์ยังเป็น Safe Heaven อยู่วันยังค่ำ ถึงแม้จะเป็นช่องทางที่ผลตอบแทนจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม" อย่างไรก็ตาม นโยบายและความต้องการในการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคนนั้น มีความแปลกแตกต่างและหลากหลายตามความชอบและความถนัดกันไป "ปานชัย พิพัฒนสกุล" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ค้าเหล็กไทย เป็นตัวอย่างของนักลงทุนคนหนึ่งที่พึงพอใจกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ แม้จะถูกแสนถูก แต่สำหรับนักลงทุนที่เป็น "ศัตรูกับความเสี่ยง" อย่างเขา ก็พร้อมที่จะจัดสรรเงินลงทุน 60-70% ฝากธนาคารและสถาบันการเงินไว้ ปานชัย ยอมรับว่า พอร์ตของเขาอาจจะสวนทางกับคนหมู่มาก ที่พยายามวิ่งหนีดอกเบี้ยเงินฝากต่ำๆ แต่เขาต้องการลงทุนที่เกิด "ความเสี่ยงน้อย...แต่ปลอดภัย" "ผมคิดว่าคนเราไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า แล้วไม่มีความสุข แค่มีใช้แบบพอเหมาะพอดีแต่มีความสุขมากๆ ดีกว่า ก็เลยไม่ได้ลงทุนในอะไรที่มันเสี่ยงมาก เพราะแม้ฝากแบงก์แล้วได้ดอกเบี้ยน้อยหน่อยแต่ก็เสี่ยงต่ำ ปลอดภัย" แต่การฝากเงินของปานชัยนั้น อาจจะไม่ธรรมดา เพราะ "กระจายความเสี่ยง" ฝากทั้งแบงก์ที่ให้ดอกเบี้ยน้อย และสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยแพงกว่าแบงก์ "ผมกระจายฝาก เพราะไม่อยากมีความเสี่ยง ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะผมเห็นอะไรมาเยอะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงิน ผลจากตอนนั้นทำให้ผมคิดว่า จะเลี่ยงไม่ลงทุนในพี/เอ็นของสถาบันการเงิน แต่ถ้าเป็นการฝากกับสถาบันจะได้ดอกเบี้ยเยอะหน่อย บางที่ให้เกือบ 3% มากกว่าฝากแบงก์ที่จะได้น้อยกว่า ต่างกันมาก" ปานชัย เล่าว่า 10 ปีก่อน เคยฝากแบงก์แล้วได้ดอกเบี้ยถึง 14% แม้ตอนนี้ได้แค่ 1-2% แต่เขาก็มีความสุขกับผลตอบแทนขนาดนี้ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงมากเหมือนลงทุนอย่างอื่น อย่างไรก็ดี ข่าวดีสำหรับคนฝากเงิน คือ กระแสการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลังของปีนี้อาจจะขยับขึ้นอีก 0.5-1% แต่ถึงแม้หักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ถึงจะขยับขึ้นมาอีกเท่านี้ ก็เชื่อว่าจะยังติดลบอีกอยู่ดี "โครงการเมกะโปรเจ็กของรัฐบาล จะทำให้สภาพคล่องในระบบค่อยๆ ลดลง จากปัจจุบันที่สภาพคล่องของธนาคารก็ทยอยปรับลดลง จากการปล่อยสินเชื่อที่มากกว่าอัตราเงินฝาก ทั้งนี้ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารน่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงสิ้นปี อัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นไม่เกิน 0.5%" ทัศนะจากคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถึงทิศทางดอกเบี้ย มาถึงบรรทัดนี้ หากใครคิดอยากจะเปลี่ยนใจไปหาทางเลือกลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ดอกผลงดงามกว่า ก็ยังไม่สาย แต่ถ้ายังเลือกและตัดสินใจที่จะฝากเงินต่อไป ก็ควรหาทางที่จะทำให้เงินฝากของคุณงอกเงยในภาวะที่ดอกผลไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่
|