|
เศรษฐกิจขาลง - รายได้เข้าคลังหด บทพิสูจน์น้ำยารัฐบาลยามวิกฤติ |
ปัจจัยลบรายล้อมกดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะขาลง พ่นพิษรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลง กำลังซื้อปัจจัยหลักตัวชี้ขาด อาจทำภาษีมูลค่าเพิ่มทรุด ส่วนภาษี 6 เดือนสรรพสามิตเก็บต่ำเป้า แถมเจรจา FTA อีกหนึ่งตัวการทำอากรขาเข้าหาย นักเศรษฐศาสตร์มองถือเป็นปัญหาท้าทายฝีมือรัฐที่ต้องบริหารเศรษฐกิจช่วงขาลง เผยโครงการลงทุนรัฐอาจต้องเลื่อน เศรษฐกิจสิ้นปี 2547 มีอัตราการเติบโต 6.1% ขณะที่ปี 2548 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะโตต่ำกว่าระดับ 5% ทั้งนี้จากปัจจัยลบเมื่อปลายปีที่ผ่านเริ่มส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ไม่สดใสนัก ทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนในระดับสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศต้องปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและดอกเบี้ยในประเทศที่จ่อคิวปรับขึ้น ปัญหาภัยแล้งทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้นบวกด้วยผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกลิตรละ 3 บาท สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้นกว่าเก่า ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง เห็นได้จากตัวเลขความไม่มั่นใจของผู้บริโภคทั้งของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและของกระทรวงพาณิชย์เดือนมีนาคม 2548 ล้วนแล้วแต่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลสำรวจความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ บ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและการลงทุนทำธุรกิจ SMEs แสดงความเห็นว่าเหมาะสมในสัดส่วนที่น้อย ขณะที่ความเห็นว่าไม่แน่ใจและไม่เหมาะสมเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่มียอดการใช้จ่ายที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกรายการ ตามมาด้วยภาคการค้าที่ประเทศไทยเริ่มมีปัญหาขาดดุล ขณะเดียวกันเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลามมาถึงสนามบินหาดใหญ่ รวมถึงเหตุการณ์คลื่นสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ กระทบความมั่นใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก ย่อมส่งผลต่อตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ห่วง!!จัดเก็บได้น้อยลง "สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรายได้การจัดเก็บภาครัฐในรูปภาษีน่าจะเก็บได้น้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง" นักเศรษฐศาสตร์กล่าว เห็นได้จากการจัดเก็บรายได้ครึ่งปีงบประมาณของกระทรวงการคลัง แม้ว่าภาพรวมในการจัดเก็บจะสูงกว่าประมาณการเฉียด 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะภาษีจากการจัดเก็บของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจปีที่แล้ว และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากผู้ประกอบการนิติบุคคลจะต้องยื่นแบบภาษี แต่นับจากนี้ไปตัวเลขจะเริ่มแสดงภาวะถดถอยมากขึ้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐเริ่มสะท้อนถึงการถดถอยออกมาบ้างแล้ว จากหน่วยงานของกรมสรรพสามิต ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการราว 7.3% หรือ 1.14 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะภาษีรถยนต์เริ่มเก็บได้น้อยลงจากการปรับพิกัดภาษีใหม่ และภาษีโทรคมนาคมที่เกิดจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของผู้ประกอบการด้วยการลดค่าโทรศัพท์ สำหรับการจัดเก็บในภาคอื่น ๆ อาจต้องรอเวลาอีกระยะกว่าจะเห็นผล คาดว่าช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลงของภาคประชาชนและการขยายฐานภาษีใหม่คงทำได้อีกไม่มาก เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมามีการขยายฐานผู้เสียภาษีออกไปมากแล้ว ยิ่งลอยตัวอำนาจซื้อยิ่งหาย หากรัฐไม่สามารถแบกรับภาระชดเชยน้ำมันที่สูงกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท ด้วยการลอยตัวน้ำมันดีเซลยิ่งจะทำให้กำลังซื้อหดลงไปอีก ที่สำคัญคือขณะนี้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ ราคาน้ำมันดีเซลมีราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซินราว 2 เหรียญต่อบาร์เรล หากราคาดีเซลเป็นอย่างนี้ตลอดอาจทำให้ราคาขายดีเซลอาจแพงกว่าน้ำมันเบนซิน เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง กำลังซื้อของคนก็ลดลง การจับจ่ายต้องลดลงตามไปด้วย ส่วนหนึ่งอาจช่วยให้ปริมาณการใช้น้ำมันน้อยลง ลดการนำเข้า แต่ผลทางจิตวิทยาจะทำให้การซื้อสินค้าต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย เมื่อนั้นก็จะกระทบกับผู้ผลิตสินค้า ภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจัดเก็บได้น้อยลง ปัญหาก็จะกลายเป็นงูกินหางเพราะทุกอย่างเกี่ยวพันกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐอีกคือ การเจรจาเขตการค้าเสรี(FTA) จะมีผลต่อการจัดเก็บอากรขาเข้า ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาของคณะเจรจาว่ามีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งในระยะแรกคงยังมองไม่เห็นชัดว่าประเทศที่เจรจาเสร็จสิ้นไปแล้ว ใครจะได้เปรียบมากกว่าใคร แต่หากประเทศไทยเสียเปรียบมากตรงนี้ก็จะมีผลต่ออากรขาเข้าและดุลบัญชีเดินสะพัด สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องโชว์ฝีมือบริหารประเทศว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุคตกต่ำให้ฟื้นขึ้นมาได้ดี แต่ครั้งนี้จะต้องเป็นการประคับประคองหรือพยายามรักษาอัตรการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ลดลงมากเกินไป รัฐรู้ชะตารายได้หด นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าภาครัฐเห็นสถานการณ์นี้แล้ว จึงเริ่มมีมาตรการบางอย่างออกมาช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ เห็นได้จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 เมษายน 2548 เห็นชอบจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มจากงบเดิมอีก 5.4 พันล้านบาท ทำให้งบสำรองจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท สาเหตุการเพิ่มงบดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเตรียมไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน เพิ่มงบสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอีก 1.5 หมื่นล้านบาท รวมแล้วงบก้อนนี้เป็น 2 หมื่นล้านบาท และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน(SML) ในวงเงิน 9.4 พันล้านบาท เพิ่มงบค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชนอีก 4 พันล้านบาท เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเพิ่มอีก 4.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เห็นแนวทางในการจัดเก็บภาษีรถยนต์กันใหม่ โดยอาจใช้การประเมินราคาหน้าโรงงาน พร้อมด้วยอัตราภาษีเฉลี่ยที่ประมาณ 76% หรือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องบัตรเครดิต อนุโลมให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทที่ถือเครดิตอยู่แล้วและมีประวัติการชำระดีสามารถถือบัตรต่อไปได้ หรือสินเชื่อบุคคลที่เดิมต้องการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อแต่วันนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการพิจารณาเอง โดยกำหนดเพียงแค่เพดานดอกเบี้ยไว้ที่ไม่เกิน 24% เพื่อเปิดช่องให้กับผู้ที่อาจประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจขาลง ที่ชัดเจนคงเป็นการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ส่งกำไรจากการดำเนินงานเข้ารัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาวินัยทางการคลังเนื่องจากมีการตั้งงบประมาณปี 2548 เป็นแบบสมดุล โดยหลักการแล้วเมื่อรายได้ของรัฐลดลง อาจต้องลดภาระการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ออกไป หากรัฐต้องการเลือกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนเพิ่ม เช่น โครงการเมกะโปรเจค ก็ต้องหลีกเลี่ยงเงินงบประมาณ ใช้การระดมทุนด้วยวิธีการอื่นแต่ก็ถูกเงื่อนไขการก่อหนี้ภาครัฐไม่เกิน 50% ทำให้อาจต้องใช้วิธีการอื่นแทน ที่สำคัญถ้าวิธีการระดมทุนทำในช่วงที่บรรยากาศไม่เอื้อโอกาสที่โครงการนี้ก็อาจต้องยืดออกไป |
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 28 เมษายน 2548
จำนวนผู้อ่าน : 6040 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|