ก่อนหน้าที่งาน Money Expo 2005 จะเปิดฉากขึ้น ในวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2548 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มคึกคักขึ้นตามลำดับ เมื่อธนาคารพาณิชย์หลายแห่งโหมโปรโมตแคมเปญดึงดูดใจลูกค้า ด้วยการเสนอเงื่อนไขให้กู้ซื้อบ้านโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำแบบสวนกระแส พร้อมๆ กับงัดกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม จัดรายการชิงโชคบ้าน รถยนต์ ทำเอาคนซื้อบ้านตัดสินใจลำบาก เพราะเงื่อนไขที่ธนาคารหลายๆ แห่งเสนอให้เป็นทางเลือกล้วนดึงดูดใจอยากจะเข้าไปใช้บริการ ถึงวันงานจริงๆ มีโปรโมชั่นให้เลือกมากกว่านี้ลูกค้าคงจะตัดสินใจยากขึ้นอีก นอกจากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สถาบันการเงินจะนำไปเปิดตัวในงานแล้ว หลายปีมานี้หากจะกล่าวว่าสินเชื่อบ้านกลายเป็นจุดขายสำคัญอย่างหนึ่งของงาน Money Expo ก็คงจะไม่ผิด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทประกันชีวิต จะถือฤกษ์งานนี้เปิดตัวแคมเปญสินเชื่อบ้านรูปแบบใหม่ๆ และเป็นประจำทุกปี ซึ่งหลายครั้งสามารถสร้างความฮือฮา และดึงดูดใจคนซื้อบ้านได้เป็นอย่างดี ที่น่าจับตามองกว่าทุกปีคือ ปีนี้การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่แพ้ตลาดบ้าน ที่การแข่งขันเริ่มส่อเค้าจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นมากราย แต่ช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อเริ่มจะหดหายไปบางส่วน ประกอบกับคนซื้อบ้านจำนวนไม่น้อยที่เริ่มไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จึงชะลอตัดสินใจซื้อบ้าน สวนทางกับยอดขายที่ผู้ประกอบการตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เฉกเช่นเดียวกับตลาดสินเชื่อบ้าน ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องการจะเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อ หรืออย่างน้อยก็รักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองเอาไว้ - แบงก์รุมเขย่าตลาดสินเชื่อบ้าน แค่เข้าสู่ช่วงครึ่งไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเริ่มเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการตลาด เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อบ้าน สถาบันการเงินหลายแห่งก็เริ่มเปิดเกมชิงความได้เปรียบ โดยออกแคมเปญสินเชื่อรูปแบบใหม่ๆ ดึงดูดใจลูกค้าให้เข้าใช้บริการทันที โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเดิมออกสินเชื่อบ้านกสิกรไทย (K Bank Home Loan) โดยชูสโลแกน "กู้หลังเดียว แต่อาจได้ถึง 2" ให้คนกู้บ้านได้ลุ้นบาทมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท พร้อมรางวัลอื่นๆ อีก รวมแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ออกแคมเปญสินเชื่อบ้าน TMB Made-To-Order ชูจุดขายให้ลูกค้ากำหนดเงื่อนไขได้ตามความต้องการ สามารถเลือกเงื่อนไขการกู้ได้ ทั้งอัตราดอกเบี้ย วงเงิน ระยะเวลาผ่อนชำระ เงินกู้เพิ่ม พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ส่วน Home Loan 1-2-3 ของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เสนอนวัตกรรมของสินเชื่อบ้านรูปแบบใหม่ 1.เริ่มต้นกับความสบายด้วยการผ่อนชำระเพียงดอกเบี้ยตลอดปีแรก 2.ให้ผ่อนชำระค่างวดรายเดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพื่อให้เหมาะกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และ 3.วงเงินสินเชื่อสูงสุด 105% รวมค่าเบี้ยประกันภัยและประกันชีวิต พร้อมกับแถมเครื่องซักผ้ามูลค่า 2,500 บาทฟรีแก่ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อและเบิกใช้วงเงินภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 - หมดยุคทองดอกเบี้ยต่ำ เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม ชิงรางวัล และ เสนอเงื่อนไขอื่นๆ ดึงดูดใจลูกค้า แทนการชูจุดขายอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง พบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อาทิ ธนาคารกสิกรไทย 3% ต่อปี กรุงไทย 3% ไทยพาณิชย์ 3.25% ธนชาติ 3.5% ธอส. 2.75% นครหลวงไทย 3.5% ไทยธนาคาร 3.25% กรุงไทย 3.25% เป็นต้น - แบงก์กรุงศรีฯชูกลยุทธ์ผนึกพันธมิตร ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และมักจะเปิดตัวแคมเปญสร้างสีสันให้กับตลาดสินเชื่อบ้านมาโดยตลอด ปีนี้หันมาใช้กลยุทธ์หลักโดยจับมือพันธมิตรธุรกิจออกแคมเปญหลากหลายอย่าง ประเดิมด้วยการจับมือกับบริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ปล่อยสินเชื่อบ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน แถมบัญชีเงินฝาก 1% ของเงินกู้ ล่าสุด จัดโปรโมชั่นพิเศษในงาน Money Expo 2005 ร่วมกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยให้สิทธิพิเศษลูกค้าที่จองซื้อบ้าน และยื่นขอ สินเชื่อในงาน รับฟรีทั้งรถยนต์ รถกอล์ฟ เฟอร์นิเจอร์ และแพ็กเกจทัวร์ วงเงินสินเชื่อ 100% ในอัตราดอกเบี้ย 0% "ชาลอต โทณวณิก" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า คาดว่าแคมเปญดังกล่าวจะได้รับการตอบรับจากลูกค้า และน่าจะมีผู้ขอใช้บริการไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทในงานนี้ - ธอส.เพลาเกมรุก ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เจ้าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปีนี้จะชะลอบุกตลาดชั่วคราว เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบ core banking ก่อนจะก้าวสู่ "ธนาคารทันสมัย เพื่อที่อยู่อาศัยครบวงจร" เต็มตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้ "ปีนี้จะเป็นปีที่พนักงานจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่หมด ถือเป็นช่วงรอยต่อ เราจึงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อไว้เพียง 9.9 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปี 2547 ที่ผ่านมา ที่ปล่อยสินเชื่อบ้านได้สูงถึง 1.04 แสนล้านบาท" ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าว เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ระบบ core banking ระบบใหม่ที่ ธอส.ลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนโตประมาณ 500 ล้านบาท จะทำให้สามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับคนซื้อบ้านได้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่า สำหรับเรื่องเม็ดเงินที่จะนำมาให้กู้ เอ็มดี ธอส.บอกว่าไม่มีปัญหา เพราะในอนาคต ธอส.จะระดมเงินต้นทุนต่ำส่วนหนึ่งจากต่างประเทศมาใช้ แม้ปีนี้ ธอส.จะเพลาเกมบุกลง แต่ก็ไม่ได้เปิดช่องว่างให้คู่แข่งมาแย่งส่วนแบ่งตลาดที่ปัจจุบันมีประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบได้ง่ายๆ โดยกลยุทธ์ที่ ธอส.นำมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขันในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ได้แก่ การคงอัตราดอกเบี้ยคงที่เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ซื้อบ้าน โดยปีแรกอัตราดอกเบี้ย 3% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4% และปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5% เป็นต้น ใน Money Expo ปีนี้ ธอส.เตรียมวงเงิน 3,000 ล้านบาท รองรับการจองสิทธิ์ของลูกค้า ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี 1.99% คงที่ 2 ปี ปีแรก 2.49% ปีที่สอง 3.75% และคงที่ 3 ปี โดยปีแรก 3% ปีที่สอง 4% ปีที่สาม 5% นอกจากนี้ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเพิ่มอีก 0.25% หลังพ้นอัตราดอกเบี้ยคงที่ นอกจากนี้ยังลดค่าธรรมเนียมการประเมินราคาหลักทรัพย์ จากปกติ 2,000 บาท เหลือเพียง 1,200 บาท เฉพาะลูกค้าที่จองสิทธิ์ภายในงาน และยื่นคำขอกู้เงินระหว่างวันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ - สินเชื่อบ้านไตรมาสที่ 1 โต 3.29% สำหรับยอดปล่อยสินเชื่อบ้านทั้งระบบในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า มีการขยายตัว 3.29% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ 1,082,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 1,048,073 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 558,923 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,442 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ธอส. 410,264 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 105,051 ล้านบาท และธนาคารออมสิน 107,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,538 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 105,051 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง |