หวั่นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นปีหน้า ฉุดประกันแบบออมทรัพย์ร่วง เหตุลูกค้าหันซื้อความคุ้มครอง "กรุงไทย-แอกซ่า" พร้อมดัน "ยูนิเวอร์แซลไลฟ์-เกษียณอายุ" บุกตลาดแทน ด้าน "เมืองไทยฯ" ลั่นพร้อมปรับผลตอบแทนยั่วใจยิ่งขึ้นเข้าสู้ ส่วน "ไอเอ็นจี" เล็งเจาะตลาดเกษียณอายุ ปั้นยอดแตะ 40% ใน 5 ปี ขณะที่ "ไทยประกัน" ได้อานิสงส์ ดอกเบี้ยต่ำ ขายซิงเกิ้ลพรีเมี่ยมเกือบ 5 พันล้าน นางสาวปรมาศิริ มโนลม้าย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านธนาคาร บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงทิศทางของประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ในปีหน้าว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์ได้รับความนิยมน้อยลงเมื่อเทียบกับ ปีนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งยังคาดว่า ผู้บริโภคน่าจะหันมาสนใจกรมธรรม์ประเภทให้ความคุ้มครองมากขึ้น "ยอดขายกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์จะลดลงเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะยังทำให้ผลตอบแทนของกรมธรรม์ดังกล่าว น่าสนใจอยู่หรือไม่ แต่ถ้าปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ผลตอบแทนก็ยังน่าสนใจอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าปัจจัยหลักที่จะทำให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นอยู่ที่ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นตัวผลักที่สำคัญ" นางสาวปรมาศิริกล่าว อย่างไรก็ตาม นางสาวปรมาศิริกล่าวอีกว่า ทางบริษัทมีผลิตภัณฑ์ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ หรือประกันชีวิตแบบอิสระ ซึ่งออกมาทำตลาดตั้งแต่กลางปีนี้ไว้รองรับความต้องการของตลาดที่อาจจะหันมาให้ความสนใจกรมธรรม์แบบคุ้มครองมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะลักษณะสำคัญของกรมธรรม์ประเภทนี้ที่ลูกค้าสามารถเลือกส่วนผสมของอายุกรมธรรม์ วงเงินความคุ้มครอง และเบี้ยประกันได้ตามความต้องการ "เชื่อว่ายูนิเวอร์แซลไลฟ์จะทำตลาดได้ดีในภาวะดอกเบี้ยผันผวนหรือมีความไม่แน่นอน ค่อนข้างมาก เพราะความยืดหยุ่นในลักษณะของผลิตภัณฑ์ทำให้ลูกค้าสามารถกำหนดทุกอย่างได้ตามความต้องการ ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวมามียอดขายในระดับที่ดี ซึ่งคาดว่าภายใน 1 ปียูนิเวอร์แซลไลฟ์ จะครองตลาดได้ดีขึ้น และมียอดขายเป็น 10% ของช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ได้ รวมถึงกรมธรรม์ประเภทเกษียณอายุมียอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นทางบริษัทจึงยังจะไม่ออกกรมธรรม์ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมในปีหน้า" นางสาวปรมาศิริกล่าวว่า สำหรับสัดส่วนยอดขายกรมธรรม์ของกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่จำหน่ายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ในปัจจุบัน มียอดขายกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ประมาณ 40% ประเภทเกษียณอายุ 30% และตลอดชีพอีก 30% ด้านนายปราโมทย์ ศักดิ์กำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า หากอัตรา ดอกเบี้ยในปีหน้าปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้ยอดขายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ลดลงไปมากพอสมควร ซึ่งบริษัทประกันจะต้องหาวิธีปรับโครงสร้างผลตอบแทนให้ดึงดูดใจลูกค้าให้มากขึ้น โดยอาจออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทำตลาดเพิ่มขึ้น หรืออาจนำกรมธรรม์ที่มีอยู่เดิมมาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและผลตอบแทนให้น่าสนใจมากขึ้น "ปีนี้กรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ได้รับความนิยมสูงมากคิดเป็น 50-60% ของยอดขายของบริษัท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้บริโภคหันมาลงทุนในช่องทางอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงกรมธรรม์ประเภทนี้สอดคล้องกับการทำตลาดผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ที่ลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่จะสนใจ วิธีออมเงินอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแนวโน้มของผู้บริโภคในปัจจุบันก็มองที่ผลตอบแทนมากขึ้นด้วย จึงเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้กรมธรรม์ดังกล่าวเติบโตขึ้นมากในปีนี้" นายปราโมทย์กล่าว นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Agency Officer บริษัท ไอเอ็นจีประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทออมทรัพย์ที่ปัจจุบันมียอดขายอยู่ประมาณ 55% ของยอดขายทั้งหมด น่าจะมีสัดส่วนลดลงในปีหน้า เนื่องจากบริษัทจะพยายามหันมาเน้นทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเกษียณอายุให้มี ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มียอดขายอยู่เพียง 25% โดยเน้นสื่อสารให้ ผู้มุ่งหวังเข้าใจและรู้จักวางแผนทางการเงินในอนาคตระยะยาว ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของการซื้อประกันชีวิต ส่วนนางวรางค์ เสรฐภักดี ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำในปีนี้ทำให้ยอดขายกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (ซิงเกิ้ล พรีเมี่ยม) ของบริษัทได้รับความนิยมสูงมาก จนมียอดเบี้ยของผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวสูงถึงประมาณ 4,800 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของเบี้ยรับรวมในขณะนี้ เนื่องจากปีนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาออมทรัพย์ด้วยการซื้อประกันและชำระเบี้ยครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเงื่อนไขของกรมธรรม์จะการันตีดอกเบี้ยให้กับลูกค้าด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดขายกรมธรรม์แบบชำระเบี้ยครั้งเดียวทำให้ทางบริษัทได้รับเบี้ยประกัน เข้ามามาก ซึ่งบริหารจัดการได้ยากพอสมควร เนื่องจากจะต้องหาช่องทางการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเหมาะสมกับที่ตกลงไว้กับผู้บริโภค
|